วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

3.บทความและงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย



เด็กกับการอ่าน



พับลิชเชอส์วีคลี รายงานผลวิจัยเรื่องการอ่านของเด็กและครอบครัว โดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักพิมพ์สกอแลสติค สำรวจการอ่านเพื่อความบันเทิงของเด็กอเมริกันวัย 5-17 ปี พบว่าเด็กร้อยละ 92 สนุกกับการอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิง (นั่นคือไม่นับพวกหนังสือเรียน) แต่เด็กจะอ่านน้อยลงมากเมื่ออายุเกิน 8 ปี และยิ่งอายุมากขึ้นสู่วัยรุ่นเท่าใด ก็ยิ่งอ่านน้อยลงเท่านั้น
โดยรวมแล้วเด็กร้อยละ 30 อ่านหนังสือเป็นประจำ เด็กวัย 5-8 ปีร้อยละ 44 อ่านหนังสือเป็นประจำ แต่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-17 ปีนั้น มีเพียงร้อยละ 16 ที่อ่านหนังสือเป็นประจำ ส่วนร้อยละ 46 อ่านนานๆ ครั้ง (เป็นประจำคืออ่านทุกวัน นานๆ ครั้งคืออ่านเดือนละไม่เกิน 2-3 ครั้ง)
ผลการศึกษาพบว่าที่อัตราการอ่านลดลงมากเมื่อวัยเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากผู้ปกครองไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดี มีพ่อแม่เพียงร้อยละ 21 เท่านั้นที่อ่านหนังสือเป็นประจำ
ลูกของพ่อแม่ที่อ่านหนังสือเป็นประจำจะชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ (คิดเป็นร้อยละ 53) เมื่อเทียบกับลูกของพ่อแม่ที่อ่านนานๆ ครั้ง มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่จะอ่านหนังสือเป็นประจำ
สำนักพิมพ์แนะนำว่าถึงพ่อแม่จะไม่ค่อยอ่านหนังสือ ก็ควรสนับสนุนให้ลูกรักการอ่านโดยอ่านหนังสือให้ลูกฟัง อย่าเพิ่งหยุดอ่านเมื่อลูกอายุแปดปี เมื่อเด็กโตขึ้นและอ่านได้เองเพิ่มขึ้น พ่อแม่ยิ่งต้องช่วยแนะนำหนังสือให้ลูกอ่าน
เด็กที่อ่านหนังสือเป็นประจำบอกว่าพ่อแม่เป็นผู้แนะนำหนังสือให้อ่านมากเป็นอันดับสอง รองจากบรรณารักษ์และห้องสมุดเท่านั้น (ตามมาด้วยเพื่อน ครู และร้านหนังสือ) ในขณะที่เด็กอ่านหนังสือนานๆ ครั้งบอกว่าได้แนวทางการอ่านมาจากครู เพื่อน บรรณารักษ์ ทีวี และพ่อแม่ ตามลำดับ
การแนะนำหนังสือมีความสำคัญยิ่งต่อการอ่าน เหตุผลข้อหลักที่ทำให้เด็กไม่อ่านหนังสืออีกต่อไป เนื่องมาจากเด็กไม่เจอหนังสือที่ตัวเองชอบ บริษัทผู้สำรวจข้อมูลตั้งข้อสังเกตว่า "พ่อแม่อาจนึกไม่ถึงว่าการที่เด็กๆ จะหาหนังสือที่ตัวเองชอบได้นั้น เป็นเรื่องยากแค่ไหน" เหตุผลข้อรองๆ ลงมาที่ทำให้เด็กไม่อ่านหนังสือคือ มีอย่างอื่นที่อยากทำมากกว่า, มีการบ้านเยอะ, ไม่มีเวลาอ่าน, เหนื่อยเกินไปที่จะอ่าน
ส่วนพ่อแม่นั้นมักเข้าใจว่าเหตุผลข้อหลักที่ลูกไม่อ่านหนังสืออ่านเล่นเป็นเพราะมีการบ้านเยอะ
การศึกษานี้ยังพบว่าเด็กร้อยละ 41 ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในการอ่าน โดยแบ่งเป็นอ่านจากคอมพิวเตอร์ 23% จากไอพ็อด 5% เครื่องเล่น MP3 อื่นๆ 2% พีดีเอ (เครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิทัล) 1% ที่เหลือเป็นอื่นๆ ผลการสำรวจพบว่าเด็กที่อ่านหนังสือโดยใช้เทคโนโลยีมักอยู่ในกลุ่มคนอ่านหนังสือเป็นประจำ (ซึ่งผลสำรวจบอกว่าอาจเป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้มีพ่อแม่ที่ผลักดันเรื่องการอ่านมากกว่า)
เร็วๆ นี้ การ์เดียน รายงานผลสำรวจจากสกอแลสติกบุ๊คคลับและบุ๊คแฟร์ ว่าพ่อแม่สมัยนี้เลิกอ่านหนังสือก่อนนอนให้ลูกฟังเร็วขึ้น มีเด็กวัย 12 ปีเพียงร้อยละ 3 ที่บอกว่าพ่อแม่ยังอ่านหนังสือให้ฟังทุกคืนก่อนนอน สำหรับเด็กวัย 7-12 นั้นมีร้อยละ 10 ที่บอกว่าพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน ครั้นเมื่อไปถามพ่อแม่เด็กวัย 7-12 กลุ่มเดียวกับที่สำรวจ พ่อแม่มากกว่าหนึ่งในสามบอกว่าตัวเองอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน แสดงว่าพ่อแม่มองโลกแง่ดีกว่าที่เป็นจริง (หรือลูกมองโลกแง่ร้ายเกิน?)
เราเริ่มอ่านหนังสือให้เด็กฟังได้ตั้งแต่เขายังเล็กมากๆ ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการของอเมริกาบอกว่าตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสามปี เด็กสามารถเลียนเสียงที่ได้ยิน เริ่มเชื่อมโยงเสียงคำที่ได้ยินกับความหมายของคำ เด็กจำหนังสือจากหน้าปกได้แล้ว ทำท่าทำทางเหมือนกำลังอ่านหนังสือได้ เข้าใจว่าควรถือหนังสืออย่างไร สามารถระบุสิ่งของในหนังสือได้ พูดชื่อตัวละครในหนังสือได้ ดูรูปในหนังสือแล้วรู้ว่าเป็นภาพแทนของที่มีในโลกจริง เด็กฟังเรื่องราวได้ ขอให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังได้ เริ่มเขียนเส้นและวาดรูป โลกของเด็กช่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้นพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่เด็กยังแบเบาะ ตั้งแต่ก่อนเด็กจะพูดได้ ให้เด็กได้เห็นและจับต้องหนังสือ
เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีพัฒนาการมากขึ้นตามวัย เด็กเล็กๆ ชอบให้คนอ่านหนังสือให้ฟัง ไม่เบื่อเรื่องซ้ำ ชอบภาษาที่มีสัมผัส พ่อแม่อาจหาข้อมูลเกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้จากอินเทอร์เน็ต เช่นเว็บ Reading is Fundamental
ดอทไปเห็นหนังสือแปลออกใหม่เรื่อง มหัศจรรย์แห่งการอ่าน เขียนโดย เมม ฟ็อกซ์ สำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพในเครืออมรินทร์ เกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ดูแล้วน่าอ่านทีเดียวสำหรับพ่อแม่
แต่พ่อแม่ที่จะแนะนำหนังสือดีให้ลูกอ่านได้ ก็ต้องเป็นคนรักการอ่านด้วย มิฉะนั้นจำเป็นต้องมีบรรณารักษ์ที่เก่งและที่ดีเป็นผู้แนะนำหนังสือ บรรณารักษ์ไม่กี่คนสามารถกำหนดชะตากรรมนักอ่านเยาวชนได้นับร้อยพัน การเลือกหนังสือของบรรณารักษ์มีค่าและมีความสำคัญยิ่ง
หนังสือเด็กเป็นหนังสือที่แพงที่สุดกว่าหนังสือวัยอื่น เนื่องจากการผลิตจะต้องดีทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงคุณภาพ ผู้ที่เขียนหนังสือให้เด็กอ่านจะต้องเขียนแต่งานที่ดีที่สุดเท่านั้น ใครจะรู้ว่าหนังสือเล่มหนึ่งอาจเป็นเล่มแรกในชีวิตของเด็กสักคนหนึ่งก็ได้ อาจทำให้เด็กคนหนึ่งๆ รักและหลงใหลในการอ่าน อาจทำให้เด็กคนหนึ่งๆ เลิกอ่าน (ดังนั้นจึงไม่มีอะไรเลวไปกว่าการทำหนังสือเด็กชุ่ยๆ อีกแล้ว) รูปเล่มต้องสวยงาม มีสีสัน สภาพแข็งแรง ผลิตโดยใช้วัสดุที่ปลอดภัย เมื่อหนังสือเด็กมีราคาแพง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีห้องสมุดมากๆ อยู่ทั่วประเทศ ในห้องสมุดเหล่านั้นควรมีหนังสือดีสำหรับเยาวชนมากๆ ให้พ่อแม่ยืมไปอ่านให้ลูกฟังได้เรื่อยๆ บ้านเราพยายามพัฒนายกระดับตัวเองหลายด้านเช่นจัดงานหนังสือ แต่อย่าลืมสนใจผลิตผู้คนรักการอ่านที่จะเป็นคนแนะนำหนังสือดีให้คนอื่นๆ --ให้กับคนรุ่นหลังที่เป็นอนาคตของเรา
อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่วันนี้กันเถิด เราคงไม่อยากให้เด็กลงเอยอย่างที่การ์เดียนจบบทความว่า -- แล้วลูกหมีถามว่า "จะอ่านอะไรให้หนูฟัง?" พ่อหมีบอกว่า "ไร้สาระน่า" ลูกหมีจึงไปดาวน์โหลดไฟล์เสียง MP3 ของ นิทานก่อนนอนสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวน้อย มาฟัง แล้วหลับทั้งน้ำตาอย่างที่เคยเป็นมาทุกคืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น