วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

11.บทความและงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย


       สุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัย (Health and Safety for Young Children)






ผู้เขียน: ปัณณ์พัฒน์ จันทร์สว่าง และตรวจสอบโดย: รองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาภรณ์ มานะจุติ
ระดับ: อนุบาลหมวด: เกี่ยวกับอนุบาล เกี่ยวกับประถมต้น







บทนำ

           สุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัย (Health and Safety for Early Childhood Children) มีความสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาของเด็กเป็นอย่างยิ่ง ครูและผู้ปกครองจึงต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพอนามัย รวมถึงเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตของเด็ก เพื่อขจัดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและพัฒนาเด็กตั้งแต่ต้น เพราะเด็กปฐมวัย หรือช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบบริบูรณ์ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่งของเด็ก เนื่องจากในระยะนี้ เด็กจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเด็กมิได้มีพัฒนาการที่เด่นชัดทางด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสติปัญญาที่สูงขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยในชีวิตประจำวันที่อาจขัดขวางพัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า เด็กกว่า 200 ล้านคนไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มสมรรถภาพ อันเนื่องมา จากความต้องการของเด็กเหล่านี้ ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น ผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก อันจะเป็นรากฐานไปสู่การมีชีวิตที่มั่นคง และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงอันตรายรูปแบบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้
การดูแลเรื่องสุขภาพของเด็กนั้น หากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องและเพียงพอในช่วงขวบปีแรกๆ นอก จากจะทำให้ผู้ปกครองและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าใจปัญหาทางด้านสุขภาพของเด็กแล้ว ยังอาจมีส่วนยับยั้ง หรือแก้ไขความผิดปกติทางด้านร่างกายของเด็ก ก่อนที่ปัญหาจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ในส่วนของความปลอดภัย เด็กจำเป็นต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อให้สามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เด็กจำนวนมากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในแต่ละปี โดย The Center for Disease Control ระบุว่าสาเหตุอันดับ 1 ของการบาดเจ็บและอุบัติเหตุในเด็ก เกิดจากการหกล้มและอุบัติเหตุบนท้องถนนตามลำดับ ในขณะที่ไม่มีผู้ปกครองคนใดที่จะสามารถเนรมิตโลกของลูกให้ปลอดภัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ปกครองก็สามารถสร้างเสริมความปลอดภัยให้กับลูกได้ ด้วยการพยายามลดปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ และที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรใส่ใจกับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงจัดการสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย และเอื้อประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุดอย่างเต็มกำลัง

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยมีลักษณะอย่างไร?

1.ปัญหาด้านสุขภาพ
ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพมีหลายสาเหตุดังนี้
  • ขาดสารอาหารและเติบโตช้า
  • ร่างกายอ่อนแอ เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย
  • เป็นโรคอันเกิดจากการติดเชื้อ
  • มีโรคแทรกซ้อน
  • มีอาการแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
  • อาเจียน
  • มีอาการชัก
  • หมดสติ
  • หยุดหายใจ
  • โครงสร้างร่างกายและพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่สมวัย
  • มีปัญหาทางสุขภาพเรื้อรัง
2.ปัญหาด้านความปลอดภัย
สำหรับลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านความปลอดภัย อาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • มีแผลไหม้ หรือพุพอง จากการถูกน้ำร้อนลวก หรือถูกไฟไหม้
  • มีแผลจากการถูกของมีคมบาด
  • มีอาการแพ้หรือเป็นพิษจากการได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ยา และน้ำยาทำความสะอาด
  • กระดูกหัก เคล็ดขัดยอก หรือศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนจากการตกจากเครื่องเล่นหรือที่สูง

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยมีสาเหตุมาจากอะไร?

1. สาเหตุจากปัจจัยภายใน
ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สาเหตุอันเกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดปกติในตัวเด็กเอง โดยปัญหาของเด็กมักเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
  • เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนาโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติทางร่างกายของเด็กเอง
  • โรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้ประเภทต่างๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้สัตว์ปีก ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในบางกรณี
2. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
สำหรับปัจจัยภายนอก สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งปัญหาที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่ มักเกิดจากเหตุดังต่อไปนี้
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งสามารถแพร่จากคนสู่คนได้อย่างง่ายดายผ่านการสัมผัส (Cross-infection)
  • การเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง ตั้งแต่หลังคลอด ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของอาหารการกิน ไปจนถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของลูก
  • เด็กขาดประสบการณ์หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  • อุบัติเหตุประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเกิดจากการหกล้มเพียงเล็กน้อย หรืออาจรุนแรงถึงอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือชีวิต
  • การได้รับสารพิษ
  • การรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอ

การช่วยเหลือและแก้ไขเด็กที่มีปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยมีความสำคัญอย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่าสุขภาพและความปลอดภัย เมื่อนำมาพิจารณารวมกันแล้ว ย่อมหมายถึง “ทั้งชีวิตของเด็ก” ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นกับสุขภาพและความปลอดภัย ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบ ตัว นอกจากนี้ยังขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็กในทุกๆด้านอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย ปัญหาที่เกิดกับสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ยังรวมถึงความผิดปกติที่อาจติดตัวเด็กไปได้ตลอดชีวิต อาทิเช่น เด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหารมักมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง หรืออาจมีร่างกายแคระแกรน ไม่เจริญเติบโต และมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย
แต่ในทางกลับกัน หากเด็กที่มีปัญหาสุขภาพหลังคลอด ได้รับการช่วยเหลือหรือรักษา ดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมมีแนวโน้มที่เด็กจะหายขาดจากความผิดปกติได้มากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น การช่วยเหลือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กย่อมมีความสำคัญต่อชีวิตและอนาคตของเด็ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกครอบครัวประสงค์ให้เด็กทุกคนได้กินดีอยู่ดี มีที่อยู่ ที่หลับนอนที่ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายครอบครัวที่รายได้ไม่เพียงพอจุนเจือสมาชิกใหม่ในครอบครัว ผู้ปกครองมีการศึกษาน้อย หรือมีถิ่นที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ครอบครัวเหล่านี้จึงมีข้อจำกัดในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้น นอก จากจะมีปัญหาสุขภาพแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังอาจถ่ายทอดการเลี้ยงดูในแบบที่ตนเองได้รับไปสู่ลูกหลาน เป็นวงจรที่สร้างปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยไม่สิ้นสุด และไม่อาจได้รับการแก้ไขได้ จนกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเหล่านั้นจะดีขึ้น

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยได้อย่างไร?

บ้านคือหัวใจสำคัญสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัย ผู้ปกครองย่อมประสงค์ให้บ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการสร้างสุขภาพที่ดีของลูก ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถทำบ้านให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ และยังสามารถสนับ สนุนการมีสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่ลูกได้อย่างเต็มที่ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
  • ประกอบอาหารที่สะอาดและมีสารอาหารครบถ้วนให้แก่ลูก
  • ฝึกให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ เพราะหากลูกสามารถรับประทานผักและผลไม้ได้ตั้งแต่ยังเล็ก ย่อมเป็นหลักประกันว่าลูกจะไม่เลือกทานเฉพาะเนื้อสัตว์ และจะได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ต่อไปในอนาคต
  • หากครอบครัวมีข้อจำกัดทางการเงิน และไม่สามารถให้ลูกรับประทานเนื้อสัตว์ได้บ่อยเท่าที่ควร ควรหาอาหารโปรตีนสูงประเภทอื่น เพื่อทดแทนสารอาหารที่ร่างกายเด็กต้องการ ในกรณีนี้ “โปรตีนเกษตร” ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่สำ คัญแหล่งหนึ่งได้เช่นกัน
  • ส่งเสริมการมีสุขภาพดีของทุกคนในครอบครัว โดยการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกัน รวมถึงไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • สมาชิกในครอบครัวไม่ควรสูบบุหรี่ในขณะที่อยู่ใกล้เด็ก เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายในตัวเด็ก รวมถึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ขาดสติ และก่อความรุนแรงแก่เด็กได้
  • สร้างสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านให้ปลอดภัย โดยการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ กล่าวคือ เก็บอุปกรณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก อันได้แก่ อุปกรณ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะที่อาจเป็นพิษต่อร่างกาย มีดและของมีคมให้พ้นจากมือเด็ก หรือปิดประตูห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้งาน สำหรับภายนอกบ้านนั้น ผู้ปกครองควรจัดให้โล่ง เพื่อป้องกันการมาอยู่อาศัยของสัตว์ร้าย รวมถึงเป็นการป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดจากสิ่งกีดขวางทางในสนามเล่น เป็นต้น
  • ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นเพียงลำพังหรืออยู่นอกสายตาโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย ผู้ปกครองควรให้การดูแลลูกอย่างเหมาะสมและใกล้ชิดตลอดเวลา
  • สอนหลักในการประพฤติตัว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิต และเป็นแบบอย่างของพฤติกรรมสร้างเสริมความปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่เหมาะสมให้กับลูก
  • ทำความเข้าใจกับพัฒนาการ ความสามารถ และความต้องการของลูก
  • หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกในขณะประกอบกิจวัตรประจำวันว่า มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ มีความปลอดภัยหรือถูกสุขลักษณะหรือไม่
  • เลือกเครื่องมือเครื่องใช้ให้เหมาะสมกับอายุและช่วงของการเจริญเติบโตของลูก
  • เลือกสิ่งที่มีมาตรฐานและปลอดภัยให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สำหรับทำกิจ กรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
  • ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด และสร้างกิจวัตรที่ส่งเสริมความสะอาดและปลอดภัยให้กับลูก เช่น เลือกใช้ถุงมือหรือผ้ากันเปื้อนแบบที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เลือกใช้ถังขยะที่เหมาะสมสำหรับขยะอันตราย และแยกให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของลูก ต้องดำเนินไปควบคู่กับการมอบอิสระในการเรียนรู้ และการทด ลองสิ่งต่างๆรอบตัว ซึ่งมักเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตาม สมดุลของทั้งสองส่วน ย่อมเกิดขึ้นได้ หากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมีความปลอดภัย อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการมอบโอกาสให้เด็กประสบความสำเร็จ และมีความมั่นใจจากการได้ลงมือกระทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อมั่นและยอมรับในตัวลูก และในขณะเดียวกัน ก็ควรถือโอกาสเรียนรู้วิธีการสร้างเสริมสุขภาพและความปลอดภัยไปพร้อมกับทุกก้าวย่างของการเจริญเติบโตของลูกเช่นกัน

เกร็ดความรู้เพื่อครู

โรงเรียนเป็นสถานที่แพร่เชื้อโรคแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับเด็ก ทั้งนี้เพราะเด็กมาจากหลากหลายครอบครัว ซึ่งต่างคนอาจมีปัญหาสุขภาพที่ต่างกัน แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันและกันได้ นอกจากนี้เด็กยังจำเป็นต้องทำกิจ กรรมที่ต้องปฏิสัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด ซึ่งการแพร่เชื้อโรคก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกัน ช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ครูอาจดำเนินการตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้พร้อมในทุกห้องเรียน
  • เข้ารับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาล และการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)
  • ฝึกซ้อมสถานการณ์จำลอง เพื่อความพร้อมของบุคลากรภายในโรงเรียนในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
  • ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ภายในห้องเรียนเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • ตรวจสอบห้องเรียนและพื้นที่โดยรอบโรงเรียน โดยหากมีจุดที่อาจเป็นอันตรายต่อนักเรียน ครูควรแจ้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไข
  • เมื่อจะนำนักเรียนประกอบกิจกรรมใดๆ ครูควรเฝ้าระวังให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนล่วงหน้า เมื่อต้องเริ่มทำกิจกรรมใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น สอนให้เด็กรู้จักวิธีการใช้ รวมถึงลองใช้เครื่องมือในการเพาะปลูก ก่อนที่จะให้เด็กลงมือเพาะปลูกจริง
  • สอนให้เด็กรักษาความสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างมืออย่างถูกวิธี ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมถึงหลังจากทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือเป็นหลัก
  • คำนึงถึงการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ เช่น หากอากาศร้อนและนักเรียนจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ควรจัดให้นักเรียนสวมหมวก เป็นต้น
  • ศึกษาข้อมูลทางด้านสุขภาพของนักเรียนทุกคน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการ และข้อจำกัดที่ต่าง กันของเด็กแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม
  • เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำลายสุขภาพและร่างกายของนักเรียนนั้นมีหลากหลายประการ อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นครูจึงควรร่วมมือกับผู้ปกครอง รวมถึงแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาหน ทางในการลดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ปัญหาของเด็กปฐมวัยประกอบด้วย ปัญหาทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัย มีสาเหตุมาจากตัวเด็กเอง และสภาพแวดล้อม ตลอดจนปัจจัยในการเลี้ยงดูและพัฒนาของเด็กแต่ละคน ปัญหาอาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ผู้ปกครองและครูจึงต้องรู้เท่าทันภูมิหลังด้านสุขภาพของเด็ก และมีความรอบคอบในการเตรียมรับมือ กรณีที่เกิดปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะการระมัดระวังการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง หรือการเตรียมการซักซ้อมก่อนการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน และเกิดความปลอดภัยแก่เด็กมากที่สุด

บรรณานุกรม

  1. Child Health and Safety - http://www.nemcsa.org/headstart/ECDHS_C.aspx [2013, Oct 24]
  2. Early Childhood Experiences - http://www.commissiononhealth.org/PDF/ [2013, Oct 27]
  3. Health and Safety Practice in Early Years Settings –http://www.collinseducation.com/resources/BTECNationalCPLDF.pdfhttp://www.collinseducation.com/resources/BTECNationalCPLDF.pdf [2013, Oct 26]
  4. Issues That Affect Children in Early Childhood Development -http://everydaylife.globalpost.com/issues-affect-children-early-childhood-development-1605.html[2013, Oct 26]
  5. Safe Home Environments – http://www.del.wa.gov/development/safety/home.aspx[2013, Oct 24]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น