วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

11.บทความและงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย


       สุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัย (Health and Safety for Young Children)






ผู้เขียน: ปัณณ์พัฒน์ จันทร์สว่าง และตรวจสอบโดย: รองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาภรณ์ มานะจุติ
ระดับ: อนุบาลหมวด: เกี่ยวกับอนุบาล เกี่ยวกับประถมต้น







บทนำ

           สุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัย (Health and Safety for Early Childhood Children) มีความสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาของเด็กเป็นอย่างยิ่ง ครูและผู้ปกครองจึงต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพอนามัย รวมถึงเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตของเด็ก เพื่อขจัดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและพัฒนาเด็กตั้งแต่ต้น เพราะเด็กปฐมวัย หรือช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบบริบูรณ์ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่งของเด็ก เนื่องจากในระยะนี้ เด็กจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเด็กมิได้มีพัฒนาการที่เด่นชัดทางด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสติปัญญาที่สูงขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยในชีวิตประจำวันที่อาจขัดขวางพัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า เด็กกว่า 200 ล้านคนไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มสมรรถภาพ อันเนื่องมา จากความต้องการของเด็กเหล่านี้ ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น ผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก อันจะเป็นรากฐานไปสู่การมีชีวิตที่มั่นคง และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงอันตรายรูปแบบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้
การดูแลเรื่องสุขภาพของเด็กนั้น หากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องและเพียงพอในช่วงขวบปีแรกๆ นอก จากจะทำให้ผู้ปกครองและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าใจปัญหาทางด้านสุขภาพของเด็กแล้ว ยังอาจมีส่วนยับยั้ง หรือแก้ไขความผิดปกติทางด้านร่างกายของเด็ก ก่อนที่ปัญหาจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ในส่วนของความปลอดภัย เด็กจำเป็นต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อให้สามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เด็กจำนวนมากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในแต่ละปี โดย The Center for Disease Control ระบุว่าสาเหตุอันดับ 1 ของการบาดเจ็บและอุบัติเหตุในเด็ก เกิดจากการหกล้มและอุบัติเหตุบนท้องถนนตามลำดับ ในขณะที่ไม่มีผู้ปกครองคนใดที่จะสามารถเนรมิตโลกของลูกให้ปลอดภัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ปกครองก็สามารถสร้างเสริมความปลอดภัยให้กับลูกได้ ด้วยการพยายามลดปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ และที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรใส่ใจกับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงจัดการสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย และเอื้อประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุดอย่างเต็มกำลัง

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยมีลักษณะอย่างไร?

1.ปัญหาด้านสุขภาพ
ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพมีหลายสาเหตุดังนี้
  • ขาดสารอาหารและเติบโตช้า
  • ร่างกายอ่อนแอ เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย
  • เป็นโรคอันเกิดจากการติดเชื้อ
  • มีโรคแทรกซ้อน
  • มีอาการแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
  • อาเจียน
  • มีอาการชัก
  • หมดสติ
  • หยุดหายใจ
  • โครงสร้างร่างกายและพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่สมวัย
  • มีปัญหาทางสุขภาพเรื้อรัง
2.ปัญหาด้านความปลอดภัย
สำหรับลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านความปลอดภัย อาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • มีแผลไหม้ หรือพุพอง จากการถูกน้ำร้อนลวก หรือถูกไฟไหม้
  • มีแผลจากการถูกของมีคมบาด
  • มีอาการแพ้หรือเป็นพิษจากการได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ยา และน้ำยาทำความสะอาด
  • กระดูกหัก เคล็ดขัดยอก หรือศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนจากการตกจากเครื่องเล่นหรือที่สูง

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยมีสาเหตุมาจากอะไร?

1. สาเหตุจากปัจจัยภายใน
ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สาเหตุอันเกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดปกติในตัวเด็กเอง โดยปัญหาของเด็กมักเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
  • เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนาโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติทางร่างกายของเด็กเอง
  • โรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้ประเภทต่างๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้สัตว์ปีก ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในบางกรณี
2. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
สำหรับปัจจัยภายนอก สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งปัญหาที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่ มักเกิดจากเหตุดังต่อไปนี้
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งสามารถแพร่จากคนสู่คนได้อย่างง่ายดายผ่านการสัมผัส (Cross-infection)
  • การเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง ตั้งแต่หลังคลอด ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของอาหารการกิน ไปจนถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของลูก
  • เด็กขาดประสบการณ์หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  • อุบัติเหตุประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเกิดจากการหกล้มเพียงเล็กน้อย หรืออาจรุนแรงถึงอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือชีวิต
  • การได้รับสารพิษ
  • การรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอ

การช่วยเหลือและแก้ไขเด็กที่มีปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยมีความสำคัญอย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่าสุขภาพและความปลอดภัย เมื่อนำมาพิจารณารวมกันแล้ว ย่อมหมายถึง “ทั้งชีวิตของเด็ก” ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นกับสุขภาพและความปลอดภัย ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบ ตัว นอกจากนี้ยังขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็กในทุกๆด้านอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย ปัญหาที่เกิดกับสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ยังรวมถึงความผิดปกติที่อาจติดตัวเด็กไปได้ตลอดชีวิต อาทิเช่น เด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหารมักมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง หรืออาจมีร่างกายแคระแกรน ไม่เจริญเติบโต และมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย
แต่ในทางกลับกัน หากเด็กที่มีปัญหาสุขภาพหลังคลอด ได้รับการช่วยเหลือหรือรักษา ดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมมีแนวโน้มที่เด็กจะหายขาดจากความผิดปกติได้มากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น การช่วยเหลือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กย่อมมีความสำคัญต่อชีวิตและอนาคตของเด็ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกครอบครัวประสงค์ให้เด็กทุกคนได้กินดีอยู่ดี มีที่อยู่ ที่หลับนอนที่ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายครอบครัวที่รายได้ไม่เพียงพอจุนเจือสมาชิกใหม่ในครอบครัว ผู้ปกครองมีการศึกษาน้อย หรือมีถิ่นที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ครอบครัวเหล่านี้จึงมีข้อจำกัดในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้น นอก จากจะมีปัญหาสุขภาพแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังอาจถ่ายทอดการเลี้ยงดูในแบบที่ตนเองได้รับไปสู่ลูกหลาน เป็นวงจรที่สร้างปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยไม่สิ้นสุด และไม่อาจได้รับการแก้ไขได้ จนกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเหล่านั้นจะดีขึ้น

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยได้อย่างไร?

บ้านคือหัวใจสำคัญสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัย ผู้ปกครองย่อมประสงค์ให้บ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการสร้างสุขภาพที่ดีของลูก ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถทำบ้านให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ และยังสามารถสนับ สนุนการมีสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่ลูกได้อย่างเต็มที่ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
  • ประกอบอาหารที่สะอาดและมีสารอาหารครบถ้วนให้แก่ลูก
  • ฝึกให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ เพราะหากลูกสามารถรับประทานผักและผลไม้ได้ตั้งแต่ยังเล็ก ย่อมเป็นหลักประกันว่าลูกจะไม่เลือกทานเฉพาะเนื้อสัตว์ และจะได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ต่อไปในอนาคต
  • หากครอบครัวมีข้อจำกัดทางการเงิน และไม่สามารถให้ลูกรับประทานเนื้อสัตว์ได้บ่อยเท่าที่ควร ควรหาอาหารโปรตีนสูงประเภทอื่น เพื่อทดแทนสารอาหารที่ร่างกายเด็กต้องการ ในกรณีนี้ “โปรตีนเกษตร” ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่สำ คัญแหล่งหนึ่งได้เช่นกัน
  • ส่งเสริมการมีสุขภาพดีของทุกคนในครอบครัว โดยการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกัน รวมถึงไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • สมาชิกในครอบครัวไม่ควรสูบบุหรี่ในขณะที่อยู่ใกล้เด็ก เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายในตัวเด็ก รวมถึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ขาดสติ และก่อความรุนแรงแก่เด็กได้
  • สร้างสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านให้ปลอดภัย โดยการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ กล่าวคือ เก็บอุปกรณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก อันได้แก่ อุปกรณ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะที่อาจเป็นพิษต่อร่างกาย มีดและของมีคมให้พ้นจากมือเด็ก หรือปิดประตูห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้งาน สำหรับภายนอกบ้านนั้น ผู้ปกครองควรจัดให้โล่ง เพื่อป้องกันการมาอยู่อาศัยของสัตว์ร้าย รวมถึงเป็นการป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดจากสิ่งกีดขวางทางในสนามเล่น เป็นต้น
  • ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นเพียงลำพังหรืออยู่นอกสายตาโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย ผู้ปกครองควรให้การดูแลลูกอย่างเหมาะสมและใกล้ชิดตลอดเวลา
  • สอนหลักในการประพฤติตัว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิต และเป็นแบบอย่างของพฤติกรรมสร้างเสริมความปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่เหมาะสมให้กับลูก
  • ทำความเข้าใจกับพัฒนาการ ความสามารถ และความต้องการของลูก
  • หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกในขณะประกอบกิจวัตรประจำวันว่า มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ มีความปลอดภัยหรือถูกสุขลักษณะหรือไม่
  • เลือกเครื่องมือเครื่องใช้ให้เหมาะสมกับอายุและช่วงของการเจริญเติบโตของลูก
  • เลือกสิ่งที่มีมาตรฐานและปลอดภัยให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สำหรับทำกิจ กรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
  • ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด และสร้างกิจวัตรที่ส่งเสริมความสะอาดและปลอดภัยให้กับลูก เช่น เลือกใช้ถุงมือหรือผ้ากันเปื้อนแบบที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เลือกใช้ถังขยะที่เหมาะสมสำหรับขยะอันตราย และแยกให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของลูก ต้องดำเนินไปควบคู่กับการมอบอิสระในการเรียนรู้ และการทด ลองสิ่งต่างๆรอบตัว ซึ่งมักเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตาม สมดุลของทั้งสองส่วน ย่อมเกิดขึ้นได้ หากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมีความปลอดภัย อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการมอบโอกาสให้เด็กประสบความสำเร็จ และมีความมั่นใจจากการได้ลงมือกระทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อมั่นและยอมรับในตัวลูก และในขณะเดียวกัน ก็ควรถือโอกาสเรียนรู้วิธีการสร้างเสริมสุขภาพและความปลอดภัยไปพร้อมกับทุกก้าวย่างของการเจริญเติบโตของลูกเช่นกัน

เกร็ดความรู้เพื่อครู

โรงเรียนเป็นสถานที่แพร่เชื้อโรคแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับเด็ก ทั้งนี้เพราะเด็กมาจากหลากหลายครอบครัว ซึ่งต่างคนอาจมีปัญหาสุขภาพที่ต่างกัน แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันและกันได้ นอกจากนี้เด็กยังจำเป็นต้องทำกิจ กรรมที่ต้องปฏิสัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด ซึ่งการแพร่เชื้อโรคก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกัน ช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ครูอาจดำเนินการตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้พร้อมในทุกห้องเรียน
  • เข้ารับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาล และการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)
  • ฝึกซ้อมสถานการณ์จำลอง เพื่อความพร้อมของบุคลากรภายในโรงเรียนในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
  • ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ภายในห้องเรียนเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • ตรวจสอบห้องเรียนและพื้นที่โดยรอบโรงเรียน โดยหากมีจุดที่อาจเป็นอันตรายต่อนักเรียน ครูควรแจ้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไข
  • เมื่อจะนำนักเรียนประกอบกิจกรรมใดๆ ครูควรเฝ้าระวังให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนล่วงหน้า เมื่อต้องเริ่มทำกิจกรรมใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น สอนให้เด็กรู้จักวิธีการใช้ รวมถึงลองใช้เครื่องมือในการเพาะปลูก ก่อนที่จะให้เด็กลงมือเพาะปลูกจริง
  • สอนให้เด็กรักษาความสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างมืออย่างถูกวิธี ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมถึงหลังจากทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือเป็นหลัก
  • คำนึงถึงการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ เช่น หากอากาศร้อนและนักเรียนจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ควรจัดให้นักเรียนสวมหมวก เป็นต้น
  • ศึกษาข้อมูลทางด้านสุขภาพของนักเรียนทุกคน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการ และข้อจำกัดที่ต่าง กันของเด็กแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม
  • เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำลายสุขภาพและร่างกายของนักเรียนนั้นมีหลากหลายประการ อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นครูจึงควรร่วมมือกับผู้ปกครอง รวมถึงแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาหน ทางในการลดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ปัญหาของเด็กปฐมวัยประกอบด้วย ปัญหาทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัย มีสาเหตุมาจากตัวเด็กเอง และสภาพแวดล้อม ตลอดจนปัจจัยในการเลี้ยงดูและพัฒนาของเด็กแต่ละคน ปัญหาอาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ผู้ปกครองและครูจึงต้องรู้เท่าทันภูมิหลังด้านสุขภาพของเด็ก และมีความรอบคอบในการเตรียมรับมือ กรณีที่เกิดปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะการระมัดระวังการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง หรือการเตรียมการซักซ้อมก่อนการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน และเกิดความปลอดภัยแก่เด็กมากที่สุด

บรรณานุกรม

  1. Child Health and Safety - http://www.nemcsa.org/headstart/ECDHS_C.aspx [2013, Oct 24]
  2. Early Childhood Experiences - http://www.commissiononhealth.org/PDF/ [2013, Oct 27]
  3. Health and Safety Practice in Early Years Settings –http://www.collinseducation.com/resources/BTECNationalCPLDF.pdfhttp://www.collinseducation.com/resources/BTECNationalCPLDF.pdf [2013, Oct 26]
  4. Issues That Affect Children in Early Childhood Development -http://everydaylife.globalpost.com/issues-affect-children-early-childhood-development-1605.html[2013, Oct 26]
  5. Safe Home Environments – http://www.del.wa.gov/development/safety/home.aspx[2013, Oct 24]

10.บทความและงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย


การเล่นของเด็กปฐมวัย

การเลือกของเล่นเด็ก เสริมพัฒนาการและการเรียนรู้

         

การเลือกของเล่นให้เด็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และผลต่อพัฒนาการที่จะตามมา ในขณะที่ผู้ผลิตของเล่นต่างแข่งขันผลิตออกมาขายจำนวนมาก บางครั้งผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ใดที่เหมาะกับเด็ก หรือแม้แต่คำอธิบายจากตัวสินค้าก็ไม่ละเอียดพอที่จะเข้าใจ ทำให้บางคนซื้อของเล่น ให้ลูกเพราะคิดว่ามันน่าจะดีเท่านั้น
รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายว่า ช่วงชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฐมวัย นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตและพัฒนาการทุกๆ ด้านของมนุษย์ ทั้งนี้ การเล่นและของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย นับเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และความต้องการของเด็กวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ควรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของการเล่นและของเล่นที่เหมาะสมรศ.ดร.จิตตินันท์ บอกว่า เด็กปฐมวัยจะมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นในชีวิตประจำวันตามความสนใจ

และความพอใจของตนเอง ขณะที่เล่นนั้นเด็กได้ใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการสำรวจคุณสมบัติของสิ่งที่เล่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เล่นด้วยหรือวัตถุสิ่งของหรือของเล่น พร้อม ๆ ไปกับการรับรู้สิ่งที่เล่นผ่านอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการทำงานของสมองในการจดจำเป็นข้อมูลความคิดความเข้าใจต่อสิ่งนั้น

“เด็กจะค่อยๆซึมซับและเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านปฏิสัมพันธ์กับคนเล่นหรือของเล่น โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองและมีผู้คอยชี้แนะให้ข้อมูลหรือสอนให้รู้จักคำบอกของชื่อเรียกสิ่งต่างๆรอบตัว หรือความหมายของสิ่งเหล่านั้นทีละเล็กละน้อย จากเรื่องที่ง่ายๆไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามความสามารถของวัย”
การเลือกของเล่นที่ดีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตามศักยภาพของเด็ก จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากของเล่นเป็นสื่อกลางช่วยเปิดโลกภายในของเด็กออกสู่ภายนอก ทำให้เด็กได้ค้นพบความสามารถหรือความถนัดของตนเองด้วยตนเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กใฝ่เรียนใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้น ทว่าการเล่นของเล่นจะปราศจากความหมาย หากเด็กไม่ได้รับความสนใจเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนการชี้แนะหรือเล่นร่วมกับเด็กเมื่อเด็กต้องการ

รศ.ดร.จิตตินันท์ ได้อธิบายถึงพฤติกรรมการเล่นของเด็ก ว่า เด็กวัย 0-1 ปี เด็กวัยนี้ในช่วงแรกเกิด – 3 เดือน จะยังไม่สนใจกับการเล่นมากนัก แต่เด็กจะเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้ยิน การแขวนของเล่นที่สดใสที่แกว่งไกวแล้วมีเสียงกรุ๋งกริ๋งช่วยให้เด็กกรอกสายตา ส่วนเด็กวัย 1-2 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเดินได้เองบ้างแม้จะไม่มั่นคงนักแต่ก็ชอบเกาะเครื่องเรือนเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ของเล่นควรเป็นประเภทที่ลากจูงไปมา
ได้ ประเภทรถไฟหรือรถลากสำหรับเด็กวัย 2-4 ปี เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และทรงตัวได้ดีเพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงขึ้นมาก ทำให้ชอบเล่นที่ออกแรงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย ม้วนกลิ้งตัว เตะขว้างลูกบอล และขี่จักรยานสามล้อ ส่วนเด็กวัย 4-6 ปี เด็กวัยนี้มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ชอบเล่นกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนามและเครื่องเล่นที่มีลูกล้อขับขี่ได้ เด็กพอใจที่จะเล่นกับ
เพื่อนเป็นกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้ กิจกรรมการเล่นที่เหมาะสม ในเด็กวัย 0 – 1 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นหยอกล้อเด็กด้วยคำคล้องจองมีการแสดงสีหน้าท่าทางและใช้เสียงสูง ๆ ต่ำ ให้เด็กสนใจ เช่น การเล่นปูไต่ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นจับปูดำ การเล่นซ่อนหาของ เป็นต้น ส่วนเด็กวัย 1-2 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นสำรวจที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การให้เด็กบริหารแขนขา การเล่นดิน-ทราย-น้ำ การหยิบของตามคำบอก เป็นต้น

สำหรับเด็กวัย 2-4 ปี ควรจัดให้เด็กใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นการแสดง
บทบาทสมมติหรือผลงานทางศิลปะ เช่น การเล่นเป็นพ่อแม่ การเล่นขายของ การเล่นสร้างงานศิลปะ เป็นต้น และเด็ก4-6 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นที่เด็กสามารถสะท้อนความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กเรียนรู้ เช่น การวาดภาพและเล่าเรื่องราว การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นที่ใช้ทักษะการสังเกตเปรียบเทียบ

รศ.ดร.จิตตินันท์ แนะนำหลักการเลือกของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างง่ายๆ4ข้อคือ 1. ต้องดูที่ความ
ปลอดภัยในการเล่นของเล่นอาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะที่ไม่มีอันตรายเกี่ยวกับ
ผิวสัมผัสที่แหลมคมหรือมีชิ้นส่วนที่หลุดหรือแตกหักง่าย ตลอดจนทำด้วยวัสดุที่ไม่มีพิษมีภัยต่อเด็ก 2.ประโยชน์ในการเล่น ของเล่นที่ดีควรช่วยเร้าความสนใจของเด็กให้อยากรู้อยากเห็น มีสีสันสวยงามสะดุดตาเด็ก มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการ ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว
3.ประสิทธิภาพในการใช้เล่น ควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุและความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ยากเกินไปจะบั่นทอนความสนใจในการเล่นของเด็กและทำให้เด็กรู้สึกท้อถอยได้ง่าย ส่วนของเล่นที่ง่ายเกินไปก็ทำให้เด็กเบื่อไม่อยากเล่นได้ และ4.ความประหยัดทรัพยากร ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือผลิต
ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยยกตัวอย่างของเล่นที่ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวและการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น เครื่องเล่นสนามประเภท เสาชิงช้า ราวโหน ไม้ลื่น ไม้กระดาน อุโมง บ่อทราย เครื่องเล่นที่มีล้อเลื่อนได้ เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ เช่น ของเล่นประเภทบีบ ตี เขย่า สั่น หมุน บิด ดึง โยน ผลัก เลื่อน เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้สายตาและมือให้สัมพันธ์กัน เช่น ของเล่นประเภทตอก กด ตี ปัก เย็บ ผูก กระดานปักหมุด ผูกเชือก ผูกโบว์ กรอกน้ำใส่ขวด เป็นต้น ของเล่นที่พัฒนาทักษะทางภาษา เช่น ภาพสัตว์ ผลไม้ ตัวพยัญชนะ เทปเพลง เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกการสังเกต เช่น โดมิโน กระดานต่อภาพ กล่องหยอดบล็อกต่าง ๆ เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการแก้ปัญหาและใช้สมาธิ เช่น ภาพตัดต่อ ของเล่นชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นสิ่งต่าง ๆ เกมค้นหาชิ้น
ส่วนที่หายไป เป็นต้นจะเห็นได้ว่าการเล่นและของเล่นสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัยมีความหมายและความสำคัญต่อ
ชีวิตเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการเล่น ถือเป็นรากฐาน (foundation) ที่สะสมเป็นพื้น
ฐานการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงวัยต่อๆมา เด็กที่ขาดโอกาสในการเล่น หรือไม่เคยมีประสบการณ์ในการเล่น ย่อมมีโอกาสที่จะประสบปัญหาในการเรียนรู้และมีพัฒนาการล่าช้าได้


9.บทความและงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย


ส่งลูกไปโรงเรียนอย่างมีความสุข



ส่งลูกไปโรงเรียนอย่างมั่นใจ (M&C แม่และเด็ก)

            ภาพการไปโรงเรียนครั้งแรกของเด็กอนุบาล มักไม่น่ารักเท่าไหร่ ก็แหม...นี่เป็นครั้งแรกที่พวกหนู ๆ จะต้องออกเผชิญโลกภายนอกตามลำพังนี่นะ จากที่เคยอยู่ที่บ้าน มีคุณพ่อคุณแม่พี่เลี้ยงดูแล จู่ๆ จะให้ไปอยู่ที่โรงเรียนกับคนแปลกหน้าอย่างคุณครูและเพื่อน ๆ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวเป็นธรรมดา

            แล้วจะมีวิธีไหนที่ทำให้เจ้าตัวเล็กคุ้นเคยกับการไปโรงเรียนได้เร็ว ๆ ได้บ้างนะ

ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกโรงเรียน
            วิธีแรกที่ควรทำคือการค่อยๆ อธิบายให้ลูกได้รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องไปโรงเรียน เหมือนอย่างพี่ๆ ที่โตแล้ว เรื่องนี้ถ้าบ้านไหนมีพี่ ๆ ที่เป็นเด็กวัยเรียนอยู่ด้วยแล้วก็ไม่ยาก เจ้าหนูจะเข้าใจได้จากภาพที่เห็นว่าพี่ ๆ ไปโรงเรียนตอนเช้า เดี๋ยวพอเย็นก็ได้กลับบ้าน การไปโรงเรียน ไม่ใช่การพรากจากแม่ตลอดไป ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแบบนั้น

            แต่ถ้าไม่มีตัวอย่างให้ลูกดูชัด ๆ ขนาดนั้น ก็ควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกโรงเรียนของตัวเอง โดยนำเอกสารของโรงเรียนต่าง ๆ มาให้ลูกดู ซึ่งในเอกสารเหล่านั้นมักมีภาพเด็กนักเรียนในอิริยาบถที่ร่าเริง แจ่มใสอยู่ ลองชี้ชวนให้ลูกดูภาพเหล่านั้น และกระตุ้นให้ลูกอยากร่วมกิจกรรมที่เห็นในภาพ ถามเขาบ่อย ๆ ว่าอยากไปที่โรงเรียนนี้มั้ย อยากไปเล่นกับเพื่อนๆ แบบนี้มั้ย ลูกชอบภาพโรงเรียนไหน ไปเที่ยวโรงเรียนกันมั้ย

เสริมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน
            จากนั้นบอกลูกบ่อย ๆ ว่าเขาโตแล้วต้องไปโรงเรียน เหมือนอย่างที่คุณแม่คุณพ่อต้องไปทำงาน มีแต่เด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องเท่านั้นที่ไม่ต้องไปโรงเรียน ลูกจะรู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ โดยคุณแม่อาจใช้ช่วงเวลาพูดคุยเรื่องนี้ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น ขณะเล่านิทาน วาดรูประบายสี ควรบอกเขาว่า เขาจะได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ อย่างนี้ร่วมกับเพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียน ซึ่งจะสนุกกว่าการเล่นกันอยู่ที่บ้านแค่สองคนแม่ลูก

สร้างความคุ้นเคยกับการเรียนรู้
            การสร้างความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ เป็นเรื่องจำเป็นค่ะ คุณอาจฝึกให้ลูกรู้สึกสนุกกับการไปโรงเรียน ด้วยการเล่นสมมุติเป็นครู นักเรียนฝึกอ่าน ก ไก่ ข ไข่ ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาได้มีพื้นฐานการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความอยากเข้าไปสัมผัสบรรยากาศห้องเรียนจริง ๆ ได้เป็นอย่างดี

กระตุ้นความอยากไปโรงเรียน

            เด็ก ๆ จะรู้สึกอยากและรอคอยวันที่จะไปโรงเรียนมากขึ้น ถ้าคุณเอาของต่าง ๆ ที่เขาจะต้องใช้ไปโรงเรียนมาให้ดูบ่อย ๆ อย่างชุดนักเรียน กระเป๋าเป้ สมุด หนังสือ ดินสอสี เด็กบางคนถึงกับซ้อมจัดกระเป๋าหนังสือ หรือแต่งชุดนักเรียนได้ทุกวันเชียวค่ะ ดังนั้น ถ้าลูกรบเร้าขอแต่งชุดนักเรียนเล่นอยู่กับบ้านในช่วงก่อนเปิดเทอม ก็ไม่ควรห้ามค่ะ

หนูทำได้...ไม่ต้องห่วง

            ก่อนเปิดเทอมคุณแม่ควรใช้เวลาช่วงนี้ฝึกให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยอนุบาลไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างเต็มที่ในบางเรื่อง

            ดังนั้นควรฝึกลูกให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง การแต่งตัว การสวมรองเท้า การรับประทานอาหาร เพราะที่โรงเรียนจะไม่มีใครคอยป้อนอาหารหรือแต่งตัวให้อย่างที่บ้าน ถ้าเขาไม่ได้รับการฝึกเรื่องเหล่านี้ไว้ พอถึงเวลาไปโรงเรียนจริง ๆ ก็จะรู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ เต็มไปด้วยสิ่งที่เขาทำไม่ได้ แต่ถ้าคุณแม่ได้ฝึกลูกไว้แล้วล่ะก็สบายใจได้เลยค่ะว่า เขาจะไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจ และภูมิใจที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อย่างเด็กใด ๆ

เอาของรักไปเรียนด้วย

            สำหรับเด็กอนุบาลแล้ว เหตุผลหลักเลยที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนคือ ไม่อยากจากคุณแม่หรือพี่เลี้ยง เรื่องนี้คุณแม่ควรทำความเข้าใจและบอกลูกว่า หนูแค่ไปโรงเรียนในตอนเช้าเดี๋ยวบ่าย ๆ ก็ได้กลับบ้านแล้ว และเพื่อความสบายใจของเขา คุณแม่อาจให้เขานำตัวแทนคุณแม่ หรือของรักของเขา เช่น ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ หรือแผ่นซีดีการ์ตูนเรื่องโปรด ไปโรงเรียนด้วยก็ได้ โดยตุ๊กตาจะช่วยเป็นตัวแทนของคุณแม่ หรือแผ่นซีดีที่นำติดตัวไปจะเป็นเหมือนเครื่องเตือนว่า อีกเดี๋ยวเขาก็จะได้กลับบ้านเปิดซีดีดูพร้อม ๆ กับคุณแม่แล้วล่ะ เขาไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนตลอดไปสักหน่อย

เตรียมรับความป่วน

            ถึงจะเตรียมความพร้อมให้ลูกไว้ดีขนาดไหน แต่เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนจริง ๆ เขาก็อาจจะโยเยขึ้นมาได้ คุณแม่ต้องเตรียมใจรับสถานการณ์ เอาไว้ เช่น อย่ายอมให้ลูกหยุดเรียนโดยไม่มีเหตุผล เพราะถ้ามีครั้งแรกแล้ว ย่อมมีครั้งต่อ ๆ ไม่ตามมาแน่นอน ไม่ควรแสดงท่าทีตกใจ หรือกังวลเกินเหตุเมื่อลูกบอกว่าปวดหัว หรือปวดท้อง ในตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ไม่ควรไปส่งลูกด้วยด้วยตัวเอง ถ้าปกติเขาขึ้นรถโรงเรียน และอย่าเอาของขวัญ รางวัลมาล่อ ถ้าต้องการทำเช่นนั้น ควรใช้การสะสมคะแนน เช่น ถ้าเขาไปโรงเรียนทุกวัน โดยไม่ร้องงอแงครบหนึ่งสัปดาห์จึงจะได้รางวัล

            คุณอาจเห็นว่าการเรียนระดับอนุบาล ไม่ใช่เรื่องซีเรียสมากนัก น่าจะยอมให้ลูกหยุดได้บ้าง แต่การฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการไปโรงเรียนนั้น ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญค่ะ หากยอมตามใจให้ลูกหยุดเรียน ไปบ้างไม่ไปบ้างแล้วล่ะก็ เชื่อได้เลยว่าคุณจะต้องพบปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ และการแก้ไขก็จะทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย

เคล็ดลับเลือกโรงเรียนให้ลูก

         ก่อนอื่นมองหาโรงเรียนใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานคุณพ่อคุณแม่เอาไว้ก่อน เพื่อความสะดวกในการรับ-ส่ง และลูกจะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการเดินทางมากเกินไป

         จากนั้นนำข้อมูลของโรงเรียนต่าง ๆ มาศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งเรื่องมาตรฐานของโรงเรียน หลักสูตรการศึกษา กิจกรรม และค่าใช้จ่าย

         สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน จากผู้ปกครองที่มีลูกเรียนอยู่ในโรงเรียนที่คุณสนใจ สังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เรียนในโรงเรียนนั้น ๆ

         ข้าไปสำรวจสภาพแวดล้อมโรงเรียนด้วยตัวเอง ว่ามีความสะอาอดปลอดภัย มีอุปกรณ์การเรียนเครื่องเล่นพร้อมมากแค่ไหน ถือโอกาสนี้พูดคุยกับคุณครู ถามถึงทัศนคติของคุณครูที่มีต่อเด็ก






8.บทความและงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย


เมื่อลูกตัวเหลืองแรกคลอด



ตัวเหลืองแรกคลอด (modernmom)
โดย: ปิยมาศ

           ภาวะตัวเหลืองพบได้ในเด็กแรกคลอดทั่วไป มีทั้งเป็นแล้วหายเองได้ และต้องได้รับการรักษา รวมถึงดูแลอย่างถูกต้อง แต่หากได้รับการรักษาช้าเกินไป ก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตหรือเกิดความพิการบางอย่างได้

อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

           แม้ว่าอาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดจะเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ตาม แต่แม่ ๆ หลายคนก็ยังกังวลและสงสัยว่า อาการเช่นนี้มีสาเหตุมาจากอะไรกัน

           เม็ดเลือดแดงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่นั้น จะถูกทำลายและเปลี่ยนเป็น "บิลิรูบิน" สารสีเหลืองที่อยู่ในกระแสเลือด เมื่อเม็ดเลือดแดงเหล่านั้นหมดอายุแล้ว แต่การทำงานของตับในเด็กเล็กยังทำงานได้ไม่ดีพอ จึงไม่สามารถกำจัดเจ้าบิลิรูบินออกจากร่างกายได้หมด ทำให้สารสีเหลืองคงค้างอยู่ในกระแสเลือด และเกิดการสะสมอยู่ตามผิวหนัง

           ด้วยเหตุนี้เอง อาการตัวเหลืองตาเหลืองจึงแสดงออกมาให้เห็นใน 2 ลักษณะ คือ ชนิดที่ปกติและไม่ปกติ หากลูกเป็นตัวเหลืองแบบปกติคงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ปกติ ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ การสังเกตอาการจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่แม่ควรรู้

ชนิดปกติ
            มีอาการตัวเหลืองหลังคลอด 2-3 วัน และค่อยๆ เหลืองเพิ่มขึ้น จนกระทั่งปลายสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่สอง จึงมีอาการตัวเหลือมากที่สุด

            ไม่มีอาการซึมหรือดูดนมไม่ดี

            ขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะปกติ

            อาการตัวเหลืองค่อย ๆ ลดลงได้เอง

            เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวอาจตัวเหลืองมากและ นานกว่าเด็กที่กินนมผสมอย่างเดียว ไม่มีอันตราย แต่ควรได้รับการตรวจและติดตามผลโดยแพทย์ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก

ชนิดไม่ปกติ
            เด็กมีอาการตัวเหลือง เมื่อมองด้วยตาเปล่าภายในวันแรกหลังคลอด ลักษณะแบบนี้พบได้ในเด็กที่มีกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากับแม่

            มีอาการตัวเหลืองร่วมกับอาการไม่สบายบางอย่าง เช่น ซึม ร้องกวนมากกว่าปกติ หรือร้องเสียงแหลมผิดปกติ ดูดนมได้ไม่ดี ท้องอืด ท้องเสีย

            มีอาการตัว เหลืองร่วมกับถ่ายอุจจาระสีเหลืองซีด

            เมื่อพิจารณาตามอายุแล้ว เด็กมีอาการตัวเหลืองมากกว่าเกณฑ์ปกติ

กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะตัวเหลืองรุนแรง
            เด็กที่เกิดก่อนกำหนด

            เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ปกติ

            เด็กที่มีหมู่เลือดไม่เข้ากับแม่

            เด็กที่มีอาการตัวแดงจัด เพราะมีเม็ดเลือดแดงเข้มข้นกว่าปกติ

            เด็กที่มีประวัติว่าพี่มีอาการตัวเหลืองมากจนต้องได้รับการรักษา

            เด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว แต่แม่มีน้ำนมน้อยหรือให้นมไม่เพียงพอ จนเด็กน้ำหนักตัวลดลงมาก

            เด็กที่มีเลือดขังหรือมีลักษณะช้ำบริเวณหนัง ศีรษะ ซึ่งเกิดจากการคลอดยากหรือต้องใช้เครื่องมือแพทย์ช่วยในการคลอด เช่น เครื่องดูดสูญญากาศ คีม ฯลฯ

            เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยร่วมด้วย

การรักษา
           ความเชื่อแต่โบราณ ว่ากันว่าหากเด็กตัวเหลือง นอกจากการได้รับนมแม่ ควรให้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งความจริงแล้ว การทำเช่นนั้นอาจทำให้เด็กตัวเหลืองมากและนานขึ้น เพราะได้รับอาหารไม่พอและทำให้ขี้เทาค้างอยู่ในลำไส้นานเกินไป ส่วนการพาไปอาบแดดอ่อนตอนเช้า ซึ่งเป็นอีกวิธีที่นิยมทำกัน อาจได้ผลอยู่บ้าง แต่ถ้าเด็กตัวเหลืองแบบไม่ปกติ วิธีนี้อาจไม่ทันการ ควรที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีดังนี้

            1.การส่องไฟ เป็นการใช้แสงบำบัดด้วยหลอดไฟสีฟ้าเข้ม โดยจะส่องไฟตลอดเวลา ยกเว้นช่วงที่แม่ให้นม นับเป็นการรักษาที่ไม่มีผลเสียหรืออันตรายกับเด็ก ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน จนระดับการตัวเหลืองลดลงจึงหยุดการรักษาได้ แต่กรณีที่เด็กขาดน้ำหรือไม่สามารถกินนมได้อย่างเพียงพอ อาจต้องให้น้ำเกลือร่วมด้วย

            2.การเปลี่ยนถ่ายเลือด เด็กจะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่า มีอาการตัวเหลืองรุนแรงมาก เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีที่หมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน ฯลฯ รวมถึงรักษาด้วยการส่องไฟแล้วไม่ได้ผล

           หากเด็กอยู่ในภาวะตัวเหลืองรุนแรงแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เสียชีวิต หรือเกิดความพิการที่สมองอย่างถาวร มีอาการหูตึงหรือหูหนวกได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคงจะเป็นการให้นมกับทารกอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการหลังกลับบ้าน แม้คุณแม่มือใหม่อาจเป็นช่วงชุลมุนวุ่นวายหลายอย่าง แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการสังเกตลูกด้วยนะคะ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เพราะนอกจากช่วยภาวะความเสี่ยงแล้ว หากพบว่าลูกมีสัญญาณอาการเหล่านี้ ก็จะได้รีบพาลูกไปพบแพทย์ได้ไม่ล่าช้าเกินไป